การถือศีลอด



การถือศีลอด
(อัซเซาม์)
         การถือศีลอด คือ การงดเว้นข้อห้ามต่างๆ ตามที่ศาสนาบัญญัติ เช่น งดการกิน การดื่ม นับตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนถึงตะวันตก
   ก. ข้อบังคับ (ฟัรดู) ในการถือศีลอด มี 4 ประการ
          (1) เนียต (มีความตั้งใจในการถือศีลอด) ในเวลากลางคืนของทุกคืน กำหนดให้เนียตได้ระหว่างตั้งแต่ตะวันตกจนถึงแสงอรุณขึ้น การถือศีลอดของเด็กๆ นั้น ก็จำเป็น (วายิบ) ให้เนียตเช่นเดียวกัน แต่การถือศีลอดของเด็กนั้น ตกเป็นสุนัต การถือศีลอดสุนัตนั้น จะเนียตในเวลากลางวันก็ได้ แต่ต้องให้อยู่ระหว่างเวลานับแต่แสงอรุณขึ้น จนตะวันคล้อย ทั้งนี้ โดยยังมิได้ปฏิบัติการ ที่ทำให้เสียศีลอด การเนียตนั้น ให้เนียตดังนี้ "ข้าพเจ้าถือศีลอดวันพรุ่งนี้ ฟัรดูเดือนรอมฎอนปีนี้ เพื่ออัลลอฮฺ"
          (2) งดเว้นการกิน การดื่ม และ การทำให้เสียศีลอด
          (3) งดเว้นการประเวณี
          (4) งดเว้นการอาเจียน โดยเจตนา
  ข. เหตุที่ทำให้เสียศีลอด มี 8 ประการ
           (1) เจตนากินหรือดื่ม แม้แต่เล็กน้อย
           (2) เจตนาร่วมประเวณี
           (3) เจตนาอาเจียน
           (4) เจตนาทำให้อสุจิเคลื่อนออก จะด้วยวิธีใดก็ตาม
           (5) เสียสติ โดยเป็นบ้า เป็นลม หรือ สลบ
           (6) เจตนาทำให้สิ่งใดล่วงล้ำภายในอวัยวะที่เป็นรู เช่น จมูก ปาก หู ทวารหนัก ทวารเบา
           (7) มีประจำเดือน และ คลอดลูก
           (8) ตกมุรตัด
    
       การเสียศีลอดด้วยเหตุดังกล่าว ต้องเป็นในเวลากลางวัน นับตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนตะวันตก และ มิได้ถูกบังคับ

   ค. สุนัต (สิ่งที่ควรปฏิบัติ) ในการถือศีลอด
        (1) ให้กินข้าวซู่ฮูร (อาหารดึก) หลังเที่ยงคืนแล้ว
        (2) ให้ล่าช้าในการกินข้างซู่ฮูร คือ ให้ค่อนไปทางยามสาม
        (3) ให้รีบแก้ศีลอด (บวช) เมื่อแน่ใจว่าตะวันตก
        (4) ให้แก้ศีลอดด้วยผลอินทผาลัม ถ้าไม่มีให้แก้ด้วยน้ำ
        (5) เมื่อละศีลอดแล้ว ให้อ่านดุอา
        (6) เว้นจากการพูดหยาบคาย ชั่วช้าลามก เช่น นินทา พูดเท็จ ยุแหย่ และ เปรียบเปรย
        (7) ให้อาบน้ำยุนุบ เฮด นี่ฟาส ก่อนแสงอรุณขึ้น (ถ้ามี)
        (8) ให้พยายามทำอิบาดะฮฺมากๆ เช่น ละหมาดสุนัตต่างๆ อ่านอัลกุรอาน และ ซิเกร
        (9) ให้แจกจ่ายอาหารแก่ผู้ถือศีลอด
       (10) ให้อ่านคำเนียต
       (11) ให้ละหมาดต้ารอวีฮฺ เป็นประจำทุกคืน ตลอดเดือน

  ง. สิ่งไม่ควรปฏิบัติ (มักรุฮฺ) ในการถือศีลอด
        (1) ล่าช้าในการละศีลอดเมื่อได้เวลา
        (2) ทะเลาะหรือวิวาทกัน
        (3) เคี้ยวสิ่งต่างๆ
        (4) ชิมรสอาหาร หรือ อื่นใด
        (5) กรอกเลือด
        (6) ดมดอกไม้หรืออื่นใดที่มีกลิ่นหอม
        (7) สีฟันหลังตะวันคล้อย
        (8) เอาน้ำบ้วนปาก หรือ ใส่จมูกจนเกินควร

  จ. จำเป็นต้องอดในส่วนเวลาของวันที่เหลือ (อิมซาก)
      บุคคลที่จำเป็นต้องอดในส่วนเวลาของวันที่เหลืออยู่ (วายิบอิมซาก) มี 5 ประเภท
      (1) บุคคลที่ทำให้เสียศีลอด
      (2) บุคคลที่ลืมเนียตในเวลากลางคืน
      (3) บุคคลที่กินข้างซู่ฮูร คิดว่ายังเป็นเวลากลางคืนอยู่ ปรากฏภายหลังว่า แสงอรุณขึ้นแล้ว
      (4) บุคคลที่ละศีลอด คิดว่าตะวันตกแล้ว ปรากฏภายหลังว่าตะวันยังไม่ตก
      (5) บุคคลที่ไม่ได้ถือศีลอดในวันสงสัย คือวันที่ 30 เดือนซะบาน ปรากฏภายหลังว่า เป็นเดือนรอมฎอน


       บุคคลดังกล่าวนี้ จำต้องอด งดการกิน การดื่ม และข้อห้ามต่างๆ ในส่วนของวันที่ยังเหลืออยู่ จนถึงเวลาละศีลอด เช่นเดียวกับผู้ที่ถือศีลอด กับต้องถือชดเชยในโอกาสต่อไปด้วย

  ฉ. วันที่ห้าม (หาราม) ถือศีลอด มี 5 วัน
      1. วันรอยอออกบวช (อีดิ๊ลฟิตริ)
      2. วันรอยอฮัจญ์ (อีดิ๊ลอัฎหา)
      3. วันที่ 11 เดือนฮัจญ์
      4. วันที่ 12 เดือนฮัจญ์
      5. วันที่ 13 เดือนฮัจญ์

  ช. วันที่ควร (สุนัต) ถือศีลอด
      1. วันอ้าร่อฟะฮฺ คือ วันที่ 9 เดือนฮัจญ์
      2. วันอาซูรออฺ คือ วันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม
      3. วันตาซูรออฺ คืน วันที่ 9 เดือนมุฮัรรอม
      4. ทุกๆ วันจันทร์ และ วันพฤหัสบดี
      5. วันอัยยามิ้นบิต คือ วันขึ้น 13, 14, 15 ค่ำของทุกเดือน
      6. วันอัยยามิซซูด คือ วันแรม 13, 14, 15 ค่ำของทุกเดือน
      7. วันเมียะราจ คือ วันที่ 27 ของเดือนร่อยับ
      8. หกวันแห่งเดือนเซาวาล ดังพระวจนะของท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) ความว่า "ผู้ใดถือศีลอดเดือนรอมฎอน แล้วได้ถือศีลอดตามหลังอีก 6 วันในเดือนเซาวาล ก็็เท่ากับเขาถือศีลอดตลอดปี" ได้กุศลผลบุญเท่ากับถือศีลอดฟัรดูทั้งปี